Skip to main content

รีวิวการรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 (Sinovac)

Kongvut Sangkla
Tags:

Intro

สวัสดีครับ บทความนี้จะเป็นการรีวิวการรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 (Sinovac) ของวันที่ 11/05/2021 เป็นการรีวิวหลังจาก 1 วันที่ได้รับการฉีด โดยผมได้รับสิทธิ์เข้ารับบริการฉีดเนื่องจากเป็นกลุ่มของบุคคลที่ทำงานที่ รพ. (ที่จริงคือ WFH 😅) และลงทะเบียนยินยอมรับการฉีด

อัปเดตข้อมูลวัคซีนเข็มที่ 2 (ระยะเวลาห่างกัน 28 วัน)

08/06/2021

เนื่องจากการส่งมอบวัคซีนมีความล่าช้า ทำให้ต้องเลื่อนการฉีดเข็มที่สองออกไป

การเตรียมตัวและขั้นตอนก็จะคล้าย ๆ กับการไปฉีดครั้งแรก เมื่อฉีดเสร็จก็จะให้นั่งพักรอดูอาการหรือผลข้างเคียงประมาณ 30 นาที ก็สามารถกลับบ้านได้

โดยส่วนตัวก็ไม่ได้มีความรู้สึกอะไรต่างกัน รู้สึกหนักแขนข้างที่ฉีดบ้างแค่นั้น อาจจะรู้สึกเพลีย ๆ บ้างนิดหน่อย

การเตรียมตัวก่อนมาฉีด 1 วัน

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดออกกำลังกาย
  • ดื่มน้ำสะอาด 1-2 ลิตร
  • งดสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • งดเครื่องดื่มบำรุงกำลังชากาแฟ
  • ให้นำบัตรประชาชนและโทรศัพท์มาด้วย

ขั้นตอนเข้ารับการฉีด

  • ลงทะเบียน ซักประวัติ วัดน้ำหนัก ส่วนสูง วัดความดัน
  • พกขวดน้ำขนาดลิตรไปด้วย (ถ้าไม่มีแจก)
  • จนท.มือเบาจิ้มเข็มไม่รู้ตัว อ้าว..ฉีดแล้วเหรอ... (เข็มเล็กกว่า พวกวัคซีนไข้วัดใหญ่)

หลังฉีดเสร็จแล้ว

  • หลังฉีดต้องสังเกตอาการ อย่างน้อย 30 นาที (ก่อนกลับบ้าน)
  • วัดความดัน รับคำแนะนำก่อนกลับ
  • ช่วง 30 นาทีแรกไม่มีอาการหนักแขน ตรงบริเวณฉีดใด ๆ
  • 2 - 4 ชม. ผ่านไปเริ่มมีอาการหนักแขน ง่วง ๆ อ่อนเพลียเล็กน้อย
  • 6 ชม. ผ่านไปปกติดี ไม่มีอาการใด ๆ
  • อย่าลืมดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ งดกาแฟก่อนได้ก็ดี

อาการผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

อาการที่อาจพบได้ เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวด บวม รอยแดง บริเวณที่ฉีด ปวดหัว ปวดเมื่อยตามกล้ามเน้ือ ปวดข้อ อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมใต้วงแขนข้างที่ฉีดวัคซีนบวม

หมายเหตุ: อาการผลข้างเคียงแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง

ประโยชน์เมื่อฉีดวัคซีน

ข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีน Sinovac จากการศึกษาผลการป้องกันโควิด-19 ในการฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวนมากที่ชิลี ปรากฏอยู่ในเอกสาร ‘การประเมินหลักฐาน: วัคซีนโควิด-19 Sinovac/CoronaVac’ ซึ่งประสิทธิผลของวัคซีน Sinovac โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ (SAGE) ขององค์การอนามัยโลกพบว่า

ประสิทธิผลหลังได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้ว 14 วัน

  • ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 67% (65-69%)
  • ป้องกันการนอนโรงพยาบาล 85% (83-87%)
  • ป้องกันการรักษาในห้อง ICU 89% (84-92%)
  • ป้องกันการเสียชีวิต 80% (73-86%)

หมายเหตุ: ตัวเลขในวงเล็บเป็นช่วงความเชื่อมั่น 95% (95% CI) เป็นการอนุมานทางสถิติว่าช่วงดังกล่าวจะครอบคลุมประสิทธิผลจริงของวัคซีน ด้วยความเชื่อมั่น 95%

ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.facebook.com/thestandardth/posts/2744843882475153

ความคิดเห็นส่วนตัว

โดยส่วนตัวคิดว่า วัคซีน Sinovac ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และสามารถป้องกันได้ดีในระดับนึง (แม้จะไม่ได้ดีมาก)

แต่หลังจากฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 2 ประมาณ 2 สัปดาห์ ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอที่จะป้องกันโรค และ ส่วนตัวคิดเห็นว่า หากฉีดวัคซีนนี้แล้วยังติดโควิด 19 นั้นก็ยังมีโอกาสหายหรือรอดมากกว่าไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้ผมรู้สึกและยินยอมรับวัคซีนตัวนี้ 😊

ข้อมูลการจองคิวฉีดวัคซีน

โดยสำหรับบุคคลทั่วไป หากต้องการรับการฉีดต้องลง แอปหมอพร้อม และลงทะเบียนคิวขอรับวัคซีน

โดยจะแบ่งเป็น 5 กลุ่มเป้าหมาย ดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 1.2 ล้านคน (เริ่มฉีดไปแล้วและจะฉีดเสร็จสิ้นในเดือน พ.ค.)

  2. กลุ่มบุคลากรด่านหน้า 1.8 ล้านคน (เริ่มฉีดไปแล้วและจะฉีดเสร็จสิ้นในเดือน พ.ค.)

  3. กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค 4.3 ล้านคน (เปิดลงทะเบียนวันที่ 1 พ.ค.นี้) โดยจะเเบ่งโรคประจำตัวออกเป็น

    • โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • โรคไตวายเรื้อรัง
    • โรคหลอดเลือดสมอง
    • โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด
    • โรคเบาหวาน
    • โรคอ้วน
  4. กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน (เปิดลงทะเบียนวันที่ 1 พ.ค.นี้)

  5. กลุ่มที่มีอายุ 18-59 ปี จำนวน 31 ล้านคน (เปิดลงทะเบียนวันที่ 1 พ.ค.นี้) สามารถลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. และจะเริ่มฉีดวัคซีนในเดือน ส.ค. 2564 ทั้งนี้ หากในระหว่างนั้นได้รับวัคซีนที่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์หรือเด็กอายุ 12-18 ปี ก็สามารถเสริมเข้าไปได้ รวมถึงกลุ่มครูอาจารย์ด้วย

Loading...